ศศช.บ้านห้วยตุ๊
การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.)
เมื่อปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชนและมีการสร้างอาคารขนาดเล็กเรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน มุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการศศช.นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นศูนย์บริการทางการศึกษาของชุมชน โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน และจัดการศึกษา ให้ทุกคนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ศศช. มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านกายภาพ ประกอบด้วย
อาคารศูนย์การเรียน เป็นอาคารเอนกประสงค์ เป็นทั้งห้องสมุด ห้องเรียน และที่พักครู มีความมั่นคง แข็งแรง เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรม บริเวณภูมิทัศน์ภายนอก ร่มรื่น สวยงาม เป็นระเบียบ จัดมุมต่างๆ ภายใน ภายนอกอย่างเหมาะสม มีลานกิจกรรม/สนามเด็กเล่น มีแปลงพืชผักสวนครัวและโรงเรือน เลี้ยงสัตว์
2. ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ศศช. จะเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยบริการสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีวัสดุ-อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมเพียงพอ และมีรูปแบบการจัดกิจกรรมน่าสนใจ หลากหลาย ขอบข่ายในการให้บริการมีดังนี้
1. เตรียมความพร้อมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
2. ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กและผู้ใหญ่
3. จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่วัยแรงงาน
5. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
6. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
7. จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
3. ด้านบุคลากร
ครู ศศช. ผู้ทำหน้าที่จัดการศึกษาประจำที่ ศศช. ต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์และศรัทธาในการเป็นครู มีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรม มีทักษะในการจัดการเรียนการสอน และการผลิตสื่อการเรียน การสอน มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรับผิดชอบดำเนินงาน ดังนี้
1. สำรวจข้อมูลหมู่บ้าน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
2. เป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้บริการทางการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายอย่าง เหมาะสมกับสภาพและข้อจำกัดของผู้เรียน ดังนี้
2.1 จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนก่อนวัยเรียน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.2 จัดการเรียนรู้ให้กับผู้ไม่รู้หนังสือ
2.3 จัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาอาชีพให้กับผู้สนใจในชุมชน โดยการสำรวจปัญหา/ความต้องการในชุมชน
2.4 จัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต โดยการจัดทำโครงการต่างๆ ให้ความรู้กับชุมชน เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม/ประชาธิปไตย
3. ประสานงานกับผู้นำชุมชน เครือข่าย ท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรม
4. ร่วมประชุมกับชุมชน
5. แนะนำ ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่ชุมชน
4. ด้านการบริหารจัดการ
การบริหารงาน ศศช. เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ประสานงาน ช่วยเหลือ มีแผนการปฏิบัติงานประจำปีและประจำเดือน โดยกำหนดให้ครูส่งแผน/ผลการปฏิบัติงานประจำเดือนทุกเดือน ให้ ศศช. มีคณะกรรมการศูนย์การเรียนฯ มีคณะกรรมการหมู่บ้าน และมีคณะกรรมการจัดทำอาหารกลางวันให้ผู้เรียน และกำหนดให้มีการสรุปและรายงานผลการปฏิบัติงานและกิจกรรมไตรมาสละ 1 ครั้ง มีการตรวจสอบการทำงานโดยครูนิเทศ และมีการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
5. ด้านการบริการชุมชน
ครู ศศช. ต้องส่งเสริมชุมชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านอนุรักษ์ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม ด้านการดูแลที่อยู่อาศัย ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย และต้องให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึงทั้งชุมชน (หมู่บ้าน) นำขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชุมชน เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรม และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีผู้นำและกรรมการ ศศช. เป็นผู้ประสานงาน ให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ ส่งเสริม สนับสนุน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้รับบริการ โดยมีการกำหนด ดังนี้
1) ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนา ศศช.
2) ชุมชนมีการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3) ชุมชนมีจิตสำนึกการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมชนเผ่า
4) ชุมชนตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพ อนามัยของครอบครัว และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน
5) มีการกำหนดกฎ กติกา ข้อบังคับของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา