1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต
วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ “วิธีเรียน กศน.” ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น
– การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
– การเรียนรู้ด้วยตนเอง
– การเรียนรู้แบบทางไกล
– การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
– การเรียนรู้แบบอื่นๆ
ซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย
1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีครู/ผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ในการถ่ายทอดเนื้อหาของครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ โดยเพิ่มการเขียนถาม/ตอบ หลังการบรรยาย รวมทั้งมีการจัดโอกาสให้ฝึกในห้องปฏิบัติการ และจัดเวลาการให้คำปรึกษา
2. การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบพร้อมกับใช้กิจกรรมลักษณะที่เน้นการสื่อสาร เช่น กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และการจัดที่นั่งในชั้นเรียนต้องเหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
3. การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน ใช้การแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอนครูจะสอดแทรกกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูล/ข้อเท็จจริง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการได้ลงมือปฏิบัติ/สังเกต และกิจกรรมการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
4. การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน โดยอาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน/กลุ่มเพื่อน จัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้เรียน ใช้ผู้ช่วยสอน ใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน ใช้แฟ้มสะสมผลงาน ใช้การเรียนแบบทีม ใช้ e-mail, discussion boards และ internet เป็นต้น
การเรียนรู้แบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนด โดยในแต่ละรายวิชาจะเลือกการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาในรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้เรียน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย และสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ในทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพิ่มเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้สื่อ
3.1 สื่อวิชาเลือกบังคับกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจัดทำต้นฉบับ
3.2 สื่อรายวิชาเลือกเสรี สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรรายวิชาเลือกเสรี แล้วเสนอให้คณะกรรมการของ สำนักงาน กศน.จังหวัดพิจารณา ตรวจสอบสอดคล้องของรายวิชากับโปรแกรมการเรียน สอดคล้องกับมาตรฐานของกลุ่มสาระในแต่ละระดับการศึกษา จากนั้น สำนักงาน กศน.จึงขอรหัสรายวิชาเลือกจากระบบโปรแกรมรายวิชาเลือก ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้พัฒนารายวิชาเลือกที่เรียนได้ทุกระดับการศึกษา
3.3 รูปแบบของสื่อ มี 2 รูปแบบ คือ แบบชุดวิชาและแบบเรียนปลายเปิดโดยให้พิจารณาตามธรรมชาติของวิชา
3.4 การจัดทำสื่อเสริมการเรียนรู้ กลุ่มพัฒนาการศึกษานอระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ร่วมกันผลิตสื่อเสริมการเรียนรู้ในเนื้อหาที่ยาก เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในการเรียนรายวิชาต่างๆ
การเทียบโอนผลการเรียน
การเทียบโอนผลการเรียนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมจัดการศึกษาและเชื่อมโยงผลการเรียนรู้จากวิธีการเรียน ที่หลากหลาย รวมทั้งจากการประกอบอาชีพและประสบการณ์ต่างๆและเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้บุคคลมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเมื่อบุคคลตระหนักและรับรู้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้น สามารถนำมาเพิ่มคุณค่าโดยการเทียบโอนเป็นผลการเรียน นับเป็นผลพลอยได้จากการเรียนรู้ นอกเหนือจากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ พัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
หลักการ
การเทียบโอนผลการเรียนมีหลักการ ดังนี้
1. หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้
2. การเทียบโอนผลการเรียนต้องสามารถเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ ทั้งจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาอาชีพหรือประสบการณ์การทำงาน
3. เป็นการเชื่อมโยงการศึกษาทั้งสามรูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต
4. เป็นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาในการเทียบโอนผลการเรียน โดยสถานศึกษาจะต้องจัดให้บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและดำเนินการให้มีการเทียบโอนผลการเรียน
5. วิธีการและหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนต้องได้มาตรฐานชัดเจนสมเหตุสมผลเชื่อถือได้โปร่งใสและยุติธรรม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ออกจากการศึกษาในระบบ หรือนอกระบบรวมทั้งผู้ที่เรียนรู้ตามอัธยาศัยสามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
2. เพื่อเปิดโอกาสให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการศึกษาเดียวกันหรือระดับที่สูงขึ้น
ขอบข่ายการเทียบโอนผลการเรียน
แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดทำขึ้นเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน ระหว่างรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ระหว่างหลักสูตรของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าสู่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีขอบข่าย ดังนี้
1. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับประถม มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายหรือเทียบเท่าเป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา ที่ออกให้โดยสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ หรือให้การรับรอง และจัดระดับการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า ตามหลักสูตร ทั้งที่จัดในรูปแบบการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ
2. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาต่อเนื่อง
เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดขึ้นตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
3. การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
เป็นการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์จากการเป็นทหารกองประจำการ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น และแรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน
4. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ ให้การรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษา หรือผลการเรียนจากหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเทียบความรู้
5. การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์
เป็นการเทียบโอนผลการเรียน โดยใช้วิธีการประเมินความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ซึ่งมีการเรียนรู้จากการศึกษาตามอัธยาศัย การประกอบอาชีพ การทำงาน โดยอาจมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทำงาน หลักฐานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่มีหลักฐานก็ได้
คุณสมบัติทั่วไปของผู้ขอเทียบโอนผลการเรียน
1. ต้องไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาหรือระดับที่เทียบเท่าของสถานศึกษาอื่น
2. ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
วิธีการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนผลการเรียนมี 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การพิจารณาจากหลักฐานการศึกษา
1.1 การพิจารณาหลักฐานการศึกษาจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับ เป็นการตรวจสอบหลักสูตรผลการเรียนในรายละเอียดเกี่ยวกับ ระดับหรือชั้นปีที่เรียนจบมา รายวิชาที่เรียน ผลการเรียน ความถูกต้องของหลักฐาน โดยหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนต้องเป็นหลักฐานที่ออกโดยสถานศึกษาของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือวิทยฐานะทางการศึกษา
1.2 การพิจารณาหลักฐานจากการศึกษาต่อเนื่อง เป็นการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหาวิชาที่ศึกษา จำนวนชั่วโมง หน่วยงานที่จัด เพื่อพิจารณาเทียบโอนให้สอดคล้องกับรายวิชาตามหลักสูตร ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา
วิธีที่ 2 การประเมินความรู้และประสบการณ์ เป็นการวัดตรวจสอบและประเมินผลการเรียนรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนที่เกิดจากการประกอบอาชีพ การทำงาน จากการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เช่น แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ การปฏิบัติจริง เป็นต้น
การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา มีขอบข่ายดังนี้
1. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
(ในระบบ) เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
2. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (นอกระบบ) เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
3. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2545 เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
4. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรอื่น ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้
หลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษาหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับ
1. คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา ศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรของสถานศึกษาที่ผู้เรียนนำหลักฐานการศึกษามาเทียบโอนผลการเรียน แล้วจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน
2. การพิจารณาเทียบโอนให้พิจารณาจาก
2.1 ระยะเวลาและระดับชั้นที่ผู้ขอเทียบโอนเรียนผ่านมา
2.2 รายวิชา/ หมวดวิชา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตัวชี้วัดของรายวิชาหรือคำอธิบายรายวิชา ระหว่างรายวิชาที่นำมาเทียบโอนกับรายวิชาที่รับเทียบโอน ต้องมีความสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
2.3 จำนวนหน่วยกิตของรายวิชา/หมวดวิชาที่นำมาเทียบโอน ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน หากรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนมีจำนวนหน่วยกิตน้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน อาจนำรายวิชาอื่นที่อยู่ในสาระและมาตรฐานเดียวกัน มานับรวมให้ได้จำนวนหน่วยกิตเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน
2.4 ไม่รับเทียบโอนรายวิชา/ หมวดวิชาที่มีค่าระดับผลการเรียนเป็น 0 ร มส
3. ให้เทียบโอนผลการเรียนได้ทั้งรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก โดยนับรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดในแต่ละระดับการศึกษา
ระดับประถมศึกษา เทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เทียบโอนได้ไม่เกิน 42 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เทียบโอนได้ไม่เกิน 57 หน่วยกิต
4. การให้ค่าระดับผลการเรียนจากการเทียบโอน
4.1 ผลการเรียนเป็นรายวิชา ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนตามที่ปรากฏในหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอน ถ้าผลการเรียนในหลักสูตรเดิมมากกว่า 1 รายวิชานำมาเทียบโอนกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้ 1 รายวิชา ให้นำค่าระดับผลการเรียนของรายวิชาที่ขอเทียบโอนมาเฉลี่ยหากมีจุดทศนิยมให้ปรับทศนิยมตามหลักการทางคณิตศาสตร์ เพื่อบันทึกผลการเรียนต่อไป
4.2 ผลการเรียนเป็นหมวดวิชา ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนของหมวดวิชาเป็นค่าระดับผลการเรียนในรายวิชาที่เทียบโอนได้
5. หัวหน้าสถานศึกษา พิจารณาอนุมัติผลการเทียบโอน
การวัดผลประเมินผลการเรียน
การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ลักษณะได้แก่
1. การวัดและประเมินผลรายวิชา สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลรายวิชาดังนี้
1.1. การวัดและประเมินผลก่อนเรียน เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะและความพร้อมต่าง ๆ ของผู้เรียนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน
1.2. การวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียน สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลระหว่างภาคเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมการเรียนการร่วมกิจกรรมและผลงาน อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายละเอียดของคะแนนระหว่างภาค ประกอบด้วย
1) การให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา หมายถึง การที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมใน
กิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา เช่น การร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การเข้าร่วมในวันสำคัญ ร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา เป็นต้น
2) ผลงานที่กำหนดเป็นร่องรอยในแฟ้มสะสมงาน
3) การแสดงออกและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ หมายถึง การร่วมอภิปรายการช่วยงานกลุ่ม การตอบคำถาม
1.3. การวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้โดยรวมของผู้เรียนในแต่ละรายวิชา โดยใช้เครื่องมือ เช่น แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบอัตนัย แบบประเมินการปฏิบัติ เป็นต้น
การวัดและประเมินผลปลายภาคเรียนนั้น ผู้เรียนที่จะผ่านการประเมินรายวิชาใด จะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนและมีคะแนนปลายภาคเรียนรวมกับคะแนนระหว่างภาคเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด
1.4 การตัดสินผลการเรียนรายวิชา
การตัดสินผลการเรียนรายวิชา ให้นำคะแนนระหว่างภาคเรียนมารวมกับคะแนนปลายภาคเรียน และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะถือว่าผ่านการเรียนในรายวิชานั้น
ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย แล้วนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดโดยให้ค่าระดับผลการเรียนเป็น 8 ระดับ ดังนี้
ให้ระดับ 4 = ได้คะแนนร้อยละ 80-100
ให้ระดับ 3.5 = ได้คะแนนร้อยละ 75-79
ให้ระดับ 3 = ได้คะแนนร้อยละ 70-74
ให้ระดับ 2.5 = ได้คะแนนร้อยละ 65-69
ให้ระดับ 2 = ได้คะแนนร้อยละ 60-64
ให้ระดับ 1.5 = ได้คะแนนร้อยละ 55-59
ให้ระดับ 1 = ได้คะแนนร้อยละ 50-54
ให้ระดับ 0 = ได้คะแนนร้อยละ 0-49
เกณฑ์การจบหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551